1. ตัวร้ายในประวัติศาสตร์ไทย
ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ไทย เราเคยได้พบบันทึกเรื่องราวของคนที่มีความคดโกงอยู่บ้างหรือไม่ เรามักพบเรื่องราวที่บอกเล่าถึงพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาพระองค์ก่อนๆ ที่สร้างความรับรู้ถึงพระเจ้าแผ่นดินที่ไม่ทรงทศพิธราชธรรม ซึ่งถือเป็นมุมมองของผู้ชนะที่สามารถผลัดเปลี่ยนแผ่นดินของราชอาณาจักรที่มีผู้ครอบครองมากถึง 5 ราชวงศ์ เรื่องราวของแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ที่วางยาเบื่อพระไชยราชาธิราช เพื่อปลงพระชนม์และยกพันบุตรศรีเทพขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินอยุธยา หรือเรื่องราวของออกญาวิชชาเยนทร์ หรือ คอนแสตนติน ฟอลคอน ที่ใช้กำลังทหารของสมเด็จพระนารายณ์ห่ำหั่นศัตรูเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชนชาติตะวันตก ที่ถือเป็นเชื้อชาติเดียวกับตน
ตัวอย่างของเรื่องราวเหล่านี้ทำให้เรามองเห็นภาพของ “ตัวร้าย” ในประวัติศาสตร์ ที่สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหน คนเราก็ล้วนแต่เห็นแก่ตัว โลภโมโทสันต์ และมักใหญ่ใฝ่สูง แต่หากเปรียบเทียบภาพประวัติศาสตร์ทั้งหมด เราก็พบว่าเรื่องราวเหล่านี้มีอยู่น้อยยิ่งกว่าน้อย การบันทึกเรื่องราวต่างๆ ลงในพระราชพงศาวดารมักเป็นเรื่องราวที่ทำร้ายฝ่ายหนึ่ง เชิดชูอีกฝ่ายหนึ่ง ก่อนที่จะมีการบันทึกเรื่องราวเหตุบ้านการเมืองอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ยุคเริ่มแรกที่การผลัดเปลี่ยนแผ่นดินข้ามราชวงศ์จะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป
แต่จะว่าไปแล้ว สำหรับการปราบปรามการโกง ก็เป็นเรื่องที่มีประวัติความเป็นมาเช่นกัน
2. ไพร่ฟ้าหน้าใส
“ไพร่ฟ้า ลูกเจ้าลูกขุน ผิแลผิดแผกแสก ว้างกัน สวนดู แท้แล้ จึ่งแล่งความ แก่ข้า ด้วยซื่อ บ่เข้าผู้ลัก มักผู้ซ่อน เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พีน เห็นสิ่นท่านบ่ใคร่เดือ-ด…”
“ใน ปากประตูมีกระดิ่งอันณื่ง แขวนไว้หั้น ไพร่ฟ้าหน้า ปก กลางบ้านกลางเมือง มีถ้อยมีความ เจ็บท้อง ข้องใจ มันจักกล่าวเถิงเจ้าเถิงขุนบ่ไร้ ไปลั่นกะ-ดิ่งอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยิน เรียกเมือถาม สวนความแก่มันด้วยซื่อ”
นี่คือข้อความส่วนหนึ่งบนหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งมีผู้ให้ความหมายของถ้อยคำในบทตอนนี้ว่า หากเกิดมีกรณีพิพาทขึ้นระหว่างราษฎร โดยจะเป็นไพร่ หรือจะเป็นลูกเจ้าลูกขุนก็ดี ถ้าอยู่ใกล้พระราชวัง ให้ไปสั่นกระดิ่งที่ปากประตูพระราชวัง พ่อขุนรามคำแหงจะเสด็จออกมาตัดสินข้อพิพาทด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ยังมีตัวแทนของพระองค์ในการตัดสินกรณีพิพาทอย่างยุติธรรมที่สุด โดยยึดถือหลักธรรมประจำใจว่า “ไม่กินสินบาทคาดสินบน” พร้อมกับเตือนสติเตือนใจว่าอย่าใส่ใจกับข้าวของเงินทองของผู้อื่น เพราะอาจจะทำให้การตัดสินคดีนั้นผิดพลาด หรือเกิดความไม่เที่ยงธรรมได้
จะเห็นว่าการตัดสินข้อพิพาทในสมัยสุโขทัยมีเจตนารมณ์ที่มุ่งไปสู่ความถูกต้องยุติธรรม เพราะบ้านเมืองคงไม่อาจตั้งอยู่ได้ หากมีคณะผู้ตัดสินชำระคดีความที่ไร้ความยุติธรรม หรือสนใจแต่ความเป็นอยู่อันหรูหรา
3. ข้าราชการกินเมือง
ลุมาถึงสมัยเมืองอยุธยาเป็นราชธานี ตามธรรมเนียมถือกันว่าผู้รับราชการบ้านเมืองเป็นข้ารับใช้แผ่นดิน จึงไม่มีเงินดาวน์เงินเดือนมอบให้เป็นค่าตอบแทน แต่สามารถใช้ยศศักดิ์ของตนสำหรับการหาประโยชน์โภชผล เช่นสามารถใช้ไพร่ในบังคับทำงานหาเงินให้ตนได้ และมีรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่ไม่ต้องส่งเข้าหลวง หรืออาจได้รับการยกเว้น ได้รับส่วนแบ่ง, ส่วนลด สำหรับการส่งเงินเข้าพระคลัง จึงมักใช้คำว่า “กินเมือง” กับข้าราชการในสมัยอยุธยา จนกลายเป็นที่มาของคำว่า “กินบ้านกินเมือง” ในสมัยหลัง เพราะแม้จะยกเลิกระบบการตอบแทนโดยการใช้ยศศักดิ์ของตนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยได้เปลี่ยนมาจ่ายเงินตอบแทนแก่ข้าราชการเป็นรายเดือน แต่ปรากฏว่าข้าราชการไทยจำนวนหนึ่งยังคงชื่นชอบการใช้ยศใช้ตำแหน่ง แสวงหาผลประโยชน์จนกระทั่งปัจจุบันนี้
อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ แม้ว่าจะอนุญาตให้ข้าราชการในสมัยอยุธยาใช้ยศศักดิ์หรือความเป็นข้าราชการของตนในการแสวงหาผลประโยชน์ แต่หากกระทำจนเกินควรก็จะเข้าข่ายเป็นการ “ฉ้อราษฏ์บังหลวง” ซึ่งความผิดนี้เทียบเท่ากับการทรยศแผ่นดินหรือเป็นการคิดคดต่อพระเจ้าแผ่นดิน มีโทษถึงขั้นแห่ประจานก่อนประหารชีวิต ถอดบรรดาศักดิ์ โดยการเฆี่ยนนั้นถือเป็นโทษสถานเบาที่สุด ดังนั้นโทษของการโกงกินหรือคอรัปชั่นในสมัยอยุธยา จึงถือว่ามีการลงโทษอย่างเด็ดขาด
4. กฎหมายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ต้นยุคกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นยุคแห่งการตรากฎหมายและพระราชบัญญัติต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกรมตรวจ ร.ศ. 109 รวมถึงการตรากฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ถือเป็นประมวลกฎหมายอาญาฉบับแรกของไทย ซึ่งมีบางบทตอนเป็นเรื่องราวว่าด้วยความผิดฐานใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่ในทางทุจริต มีการกำหนดโทษความผิดฐานทุจริตไว้อย่างเป็นหมวดหมู่ชัดเจน และได้ยกเลิกการตอบแทนข้าราชการในแบบ “กินเมือง” หันมาจ่ายเงินเดือนให้แก่ข้าราชการแทน
5.กรมตรวจราชการแผ่นดิน
กรมตรวจราชการแผ่นดิน ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2488 มีการประกาศใช้ พรบ. ว่าด้วยวิธีพิจารณาข้าราชการและพนักงานเทศบาลผู้ประพฤติผิดวินัยหรือหย่อนความสามารถ ถือเป็นการบัญญัติกฎหมายฉบับแรก สำหรับการวางโครงสร้างและกลไกในการตรวจสอบการทุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ
6. ยุค กตป.
รัฐบาลจากการรัฐประหาร นำโดย จอมพลถนอม กิตติขจร มองเห็นว่าระเบียบราชการบริหารแผ่นดินมีข้อบกพร่อง ต้องการลดหน่วยงานที่ทำหน้าที่ซ้ำซ้อน จึงรวมบทบาทของหน่วยงานทั้งสาม คือ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี, สำนักคณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์, และคณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติเกี่ยวแก่ภาษีอากรเข้าด้วยกัน และเปลี่ยนเป็นสำนักงาน “คณะกรรมการตรวจและติดตามผลการปฏิบัติราชการ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี” ตั้งแต่ พ.ศ. 2515 เป็นต้นมา
รัฐบาลภายใต้การนำของจอมพลถนอม กิตติขจร ยังเห็นชอบตั้งคณะกรรมการตรวจและติดตามผลการปฏิบัติราชการ (ก.ต.ป.) โดยให้อำนาจหน้าที่แก่เจ้าหน้าที่ ก.ต.ป. ให้มีอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิด หากบุคคลใดขัดขวางหรือไม่ให้ความร่วมมือ มีบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คณะกรรมการ ก.ต.ป. นี้ ถูกยกเลิกไปภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516
7. ความเป็นมาของ ป.ป.ช.
คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่เดิมถูกเรียกว่า คณะกรรมการ ป.ป.ป. การมาถึงของรัฐธรรมนูญปี 2540 ช่วยปรับเปลี่ยนบทบาทและช่องโหว่เรื่องระเบียบการทำงาน เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและกลไกการตรวจสอบ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปีพุทธศักราช 2540 ได้บัญญัติหัวข้อเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และได้จัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ขึ้น
8. ตัวร้ายยุคใหม่
กงล้อยังคงหมุนเวียนต่อไป จากการมองกลับไปสู่ประวัติศาสตร์เพื่อค้นหาตัวร้ายในหน้ากระดาษเก่าๆ กลับกลายเป็นการจารึกประวัติศาสตร์ด้วยรายชื่อใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร, นายสมัคร สุนทรเวช, นายประชา มาลีนนท์, นายวัฒนา อัศวเหม ฯลฯ
ชื่อเหล่านี้ได้กลายเป็นตัวร้ายในประวัติศาสตร์แล้ว.
วัฒนา อัศวเหม : จำคุกแค่ 3 ปียังหนีศาล !
นาย วัฒนา อัศวเหม มีความผิดฐานฉ้อโกงการจัดซื้อที่ดิน อ.คลองด่าน จ.สมุทรปราการ มูลค่า 1.9 พันล้านบาท เพื่อก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน และฉ้อโกงสัญญาการก่อสร้างฯ มูลค่าประมาณ 2.3 หมื่นล้าน เป็นคดีที่มีผู้เกี่ยวข้องมากมาย มีจำเลยเป็นบุคคลผู้รับตำแหน่งทางการเมือง และเป็นผู้บริหารของบริษัทต่างๆ รวมถึงมีจำเลยเป็นชาวต่างชาติ หลายคนยอมติดคุก แต่นายวัฒนาเผ่นแน่บ !
ทักษิณ ชินวัตร : 2 ปีก็หนีเหมือนกัน
คดีระหว่างอัยการสูงสุดกับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร จำเลยที่ 1 และนางพจมาน ชินวัตร จำเลยที่ 2 ที่รู้จักกันในชื่อคดีที่ดินรัชดาฯ เป็นผลสืบเนื่องจากนางพจมานประมูลซื้อที่ดิน จากหน่วยงานในสังกัดของธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง ซึ่งได้ปรับปรุงราคาที่ดินให้ลดลงถึง 2,000 ล้านบาท เพื่อทำการเปิดประมูลทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งในภายหลังนางพจมานชนะการประมูลที่ดินในราคาเพียง 772 ล้านบาท ในการประมูลรอบที่สองหลังจากนั้น 8 ปีเต็ม ผู้ชนะการประมูลได้ซื้อที่ดินผืนเดียวกันในราคา 1,815 ล้านบาท ซึ่งมีราคาสูงขึ้นถึง 153% ในเวลาเพียง 8 ปี รายนี้จะติดคุกจริงแค่ 2 ปีเท่านั้น แต่หนีคดีไปนานนับสิบปี จนกระทั่งตอนนี้หมายจับงอก ออกลูกออกหลานจนเกือบครบ 10 ใบแล้ว
12 ปีแห่งความหลัง ของ ประชา มาลีนนท์
คดีทุจริตโครงการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง 6,687 ล้าน ที่ในท้ายที่สุด ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาจำคุกนายประชาเป็นเวลา 12 ปี และจำคุก พล.ต.ต.อธิลักษณ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. เป็นเวลา 10 ปี ตอนนี้ไม่รู้ว่านายประชาหนีเตลิดไปอยู่ที่ไหน รีบกลับมาเมืองไทยด่วน ลูกน้องเก่ากำลังคิดถึง
สมัครชิงตาย หนีคดีรถดับเพลิงก็อกสอง
คดีทุจริตโครงการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง 6,687 ล้าน ยังมีก็อกสอง ศาลปกครองกลางออกคำสั่งให้ทายาทของนายสมัคร สุนทรเวช และนายประชา มาลีนนท์ ชดใช้เงินจำนวนรายละ 587,580,000 บาท เนื่องจากศาลพิจารณาเห็นว่าการกระทำของนายสมัครเป็นการเร่งรีบ ตั้งแต่ขั้นตอนการพิจารณาโครงการและทำสัญญา โดยไม่ผ่านการตรวจร่างของอัยการสูงสุด เพื่อให้ทันก่อนที่นายสมัครจะพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการ กทม. ก่อนที่นายอภิรักษ์ โกษะโยธินจะเข้ามารับตำแหน่ง และมีความพยายามที่จะยุติการซื้อขายนี้ ด้วยเหตุผลว่าไม่เป็นไปตามระเบียบของราชการ คำสั่งของศาลปกครองกลางนี้เกิดขึ้นหลังจากนายสมัครเสียชีวิตไปแล้วถึง 5 ปี เรียกว่าสำหรับนายสมัคร ไม่ทันแม้แต่จะหนี